TL;DR
#TEDxBangkok ไปแล้วได้อะไร? กิจกรรมที่ให้คนที่มีความคิดที่แตกต่างออกไปพูดๆ เพื่อทำให้เกิดการ Learn, Unlearn, Relearn
ในวันเสาร์ที่ผ่านมา 22-08-2559 /me โชคดีได้รับโอกาศไปฟัง talk ในงาน #TEDxBangkok ครั้งที่ 2 ซึ่งปีนี้จัดที่ Siam Square One เป็นอีเว้นที่ประทับใจที่สุดในปีนี้เลย
ก่อนจะเล่าเรื่องราวในงาน อยากจะอวดก่อนว่า ตั๋วเขางานนี้ ไม่ใช่จะได้มาง่ายๆนะ เพราะต้องผ่านการสมัคร ตอบคำถาม และคัดเลือกจากทีมจัดงาน เพราะเขาตั้งใจอยากให้คนเขางานมีความหลากหลายทางความคิด วัย และหลากหลายอาชีพ เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องราวระหว่างกันและกัน ถือเป็นความใส่ใจของทีมงานอย่างหนึ่ง #อวยไส้แตก
สำหรับใครที่พลาดปีนี้ ลองซ้อมๆตอบคำถามพวกนี้ดูก่อนละกัน [เท่าที่จำได้จากที่เคยตอบมาแล้ว 2 ปี] เผื่อจะไปด้วยกันในปีหน้า
- ถ้ามีอะไรที่คุณอยากเปลี่ยนแปลง เพื่อให้สังคมดีขึ้น?
- คุณเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงรึยัง อย่างไง?
- TED จะช่วยคุณเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร?
- อธิบายความเป็นตัวคุณใน 3 ประโยค
- จงบอกสิ่งที่คุณ อยากพูดถึงมากที่สุด 3 หัวข้อ
TED คืออะไร ??
TED Talks ย่อมาจากคำ 3 คำ คือ Technology, Entertainment and Design เป็นงานรวมตัวกันของคนที่มีความคิดดี ๆ มีประสบการณ์ตรงจากการลงมือทำ แล้วนำมาเล่าสู่กันฟัง ภายในธีมว่า “Idea Worth Spreading” โดยแต่ละคน จะต้องเล่าให้จบใน 18 นาที และต้องเป็นตัวจริงที่เป็นเจ้าของเรื่อง มาเล่าด้วยตัวเอง
โดยส่วนตัวแล้ว รู้จัก TED talk มาตั้งแต่สมัยเรียน เริ่มต้นสนใจจากอาจารย์หลายๆท่านแชร์ ต่อมาเปลี่ยนมาตั้งใจฟังมากขึ้นเพราะอยากจะพัฒนาการฟังภาษาอังกฤษ สำหรับ talk ที่ชอบมากที่สุด คือ **How do you define yourself? | Lizzie Velasquez** |
แต่ในส่วนของ TEDx เป็นงานระดับท้องถิ่นที่จัดขึ้นอย่างอิสระด้วยตัวเอง โดยเริ่มมีในไทยในช่วย 2-3 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้เกิด TEDx อยู่หลายๆที่ ไม่ว่าจะ TEDxThammasatU, TEDxChiangMai และ กำลังจะมี คือ TEDxChulalongkornU, TEDxKMUTT
TEDxBangkok เป็นยังไงบ้าง?
จริงๆ #TEDxBangkok ปีนี้ ถือเป็นงานปีที่ 2 แล้ว โดยปีนี้จัดในคอนเซ็ป Learn, Unlearn, Relearn ซึ่งหมายถึง มาร่วมกันเรียนรู้ แล้วจะพบสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน แล้วก็กลับไปเรียนรู้อีกครั้ง
ตลอดงาน /me มักจะได้ยินพิธีกรพูดขึ้นมาบ่อยๆว่า “มา TEDxBangkok แล้วไม่คุยกับใครเลย นั่งฟังอยู่ที่บ้านก็ได้ ไม่ต่างกัน” เพราะนอกจากมาฟังที่งานแล้ว ทุกคนสามารถเข้าไปฟังแบบสดๆทางออนไลน์ หรือ ฟังย้อนหลังเอาก็ได้ แต่สิ่งที่การมางานจริงๆ มีเหนือกว่า คือ คนร่วม ซึ่งทุกคนเปิดกว้างให้เข้าไปคุยด้วยตลอดเวลา ถ้าไม่กล้า ก็จะมีสตาฟมาช่วยจับกลุ่มเพื่อมาแลกเปลี่ยนไอเดียกัน
นอกจากนี้แล้ว ในงานนี้ยังมีการเปิดโต๊ะให้คนที่มาร่วมงานได้คุยกันผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น กิจกรรมพากษ์เสียง กิจกรรมอุโมงค์กาลเวลา {ตอบคำถามและอ่านคำตอบจากมุมมองคนอายุมากกว่า 30 และ น้อยกว่า 30} แต่ที่ชอบมากที่สุด คือ กิจกรรม GIFT FOT GIVE ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้เราเขียนสิ่งที่เราอยากให้ 1 อย่างกับคนอื่น มาแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งทำให้ /me ได้เข้าไปคุยกับคนนู้นนี้
หลังจากคุยกับคนอื่นเพลินๆ ก็มาถึงเวลาที่ทุกคนรอคอย…
ปีนี้ในงาน #TEDxBangkok จะประกอบด้วย 16 Speaker และ 4 Performance ซึ่งแต่ละคน ฟังไปก็อินไป ถ้าจะเขียนหมดทุกคน ก็คงไม่ไหว /me จะขอเลือกมาเฉพาะคนที่ตราตรึงใจทุกสุดละกัน
#1 คุณหมอตั้ม และคุณหมอก้อย
คนแรกที่จะพูดถึง คือ คุณหมอตั้ม และคุณหมอก้อย เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ” //พึ่งเคยได้ยินชื่อเพจนี้ในงานนี้แหละ
คุณหมอทั้ง 2 เป็นจิตแพทย์เด็ก มาพูดเกี่ยวกับ “หลักการเลี้ยงลูก” ฟังครั้งแรกแล้วก็นึกว่า มันเป็นเรื่องไกลตัวมากๆ แต่สมการแรกที่คุณหมอทั้ง 2 ตั้งขึ้นมา “เก่ง + ดี = มีความสุข?” ทำให้เกิดความสงสัยตามมาเหมือนกัน สิ่งที่เราทำอยู่ในตอนนี้ ทำให้เรามีความสุขแล้ว?
คุณหมอสรุป กฏสำหรับการเลี้ยงลูกให้เป็นคนธรรมดา ขึ้นมา 3 ข้อ คือ
-
สอนให้เขาชื่นชมตัวเองได้ ให้อภัยตัวเองเป็น สอนให้เขารู้ว่า ทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่เราก็พร้อมที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
-
พัฒนาลูกให้ไปตามทางของตัวเขาเอง หาแรงปราถนาให้เจอ มันจะผลักให้เราลุกขึ้นผ่านอุปสรรค แต่ละคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นหมอ หรือวิศวะ และ ไม่ใช่แค่หมอ หรือ วิศวะเท่านั้นที่จะมีความสุขได้
-
รู้จักการทำดีกับตัวเองโดยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น และทำดีกับผู้อื่นโดยการไม่เบียดเบียนตนเอง
#2 การแสดงดนตรีของชาวปกาเกอะญอ
คนต่อมาที่ประทับใจ คือ การแสดงแรก ซึ่งเป็นการแสดงดนตรีของชาวปกาเกอะญอ
มีความเพราะและความฟิน หลังจากการแสดงจบ อาจารย์ชิ เล่าให้ฟังว่า “ปกาเกอะญอ” แปลว่า “มนุษย์” หมายถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน แต่เขากลับถูกคนอื่นดูแคลน ทั้งๆที่พวกเขาก็คือคนเหมือนกัน หลายคนบอกว่าพวกเขา คือ คนที่ทำลายผืนป่า ทำลายแหล่งน้ำ ทำลายข้าว แต่กลับไม่รู้ว่า ชาวปกาเกอะญอถือความเชื่อและปฏิบัติตามความคิดที่ว่า “ถ้าอยากกินปลา ต้องดูแลแม่น้ำ อยากปลูกข้าว ต้องดูแลดิน อยากมีน้ำ ต้องดูแลป่า”
#3 คุณเน้ตติ้ง
คุณเน้ตติ้ง เธอได้เล่าสิ่งที่พบระหว่างการเดินทางในระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตร ผ่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ ซึ่งเธอตั้งคำถามหนึ่งที่ทำให้ /me ฉุกคิด ว่า “ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราเรียกประเทศพม่า ลาว เขมร เวียดนาม กัมพูชา ว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้าน แต่เรายอมรับเขาเป็นเพื่อนบ้านของเรารึยัง?”
ก่อนการเดินทาง ทุกๆคนรอบตัวเธอ ต่างกังวลว่าเธอจะเป็นอันตรายรึปล่าว เพราะพวกเขาไม่ไว้ใจเพื่อนบ้านของพวกเรา เรามักเสพข่าวว่าประเทศนั้นไม่เจริญ ประเทศนี้ล้าหลัง ประเทศนู้นอันตราย ทำให้เราเกลียดพวกเขา ไม่ชอบพวกเขาไปแล้วทั้งๆที่ไม่รู้จักกัน
แต่ตลอดการเดินทาง คุณเน้ตติ้งได้เล่าว่าเธอได้เจอเพื่อนๆของเธอจากประเทศเหล่านั้น ซึ่งก็เป็นคนเหมือนกัน และเราสามารถเป็นเพื่อนกันได้
//ฟังแล้วอยาก แพ๊คกระเป๋า แบกเป้ไปพม่า ปรับทัศนคติตัวเองซัก 1 เดือน
#4 น้าต๋อย เซมเบ้
น้าต๋อย เซมเบ้ นักพากษ์การ์ตูนชื่อดัง อย่าง อาราเล่, ดราก้อนบอล, ไอ้มดแดง? บลาๆ ถือเป็นเสียงที่ทุกคนวัย 20-30 น่าจะคุ้นเคยกันทุกคน #กรี๊ดลั่นฮอลล์
น้าต๋อยเล่าการเดินทางในวงการการ์ตูน 30+ ปี ที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งง่ายและยากปนกันไป ซึ่งตลอดการเดินทางของน้าต๋อย มักจะเจอคำถามว่า “ดูการ์ตูนแล้วได้อะไร?” ซึ่งน้าต๋อยตอบว่า เราได้ความสนุกสนาน สร้างความสุข การ์ตูนสอนให้เด็กๆมีคุณธรรม ความรัก ความสามัคคี //เยอะ
บางครั้งพอเราโตขึ้น เราก็ลืมคุณธรรมและความสุขในอดีตเหล่านั้นไป ดังนั้นการ์ตูนจึงยังเป็นเครื่องเตือนความจำว่าในสมัยเด็กเราเคยสดใสและเคยมีจินตนาการโลดเล่น
นอกจากนี้ น้าต๋อยเล่าว่าครั้งหนึ่งเคยที่นักวิชาการท่านหนึ่งถามน้าต๋อยว่า “คุณคิดว่าเด็กที่ดูการ์ตูน โตขึ้นมันจะเป็นยังไง” ตอนนั้นคำตอบของน้าต๋อยก็ไม่ชัดเจนซักเท่าไร แต่ 30 ปีต่อมา ในช่วงที่น้าต๋อยป่วยหนัก คุณหมอที่รักษาน้าต๋อยบอกกับเขาว่า “น้าต๋อยคือเสียงที่เขาได้ยินมาตั้งแต่เด็ก เขาเติบโตขึ้นมาเพราะการ์ตูนของน้าต๋อย น้าคือฮีโร่ของเขา และเขาจะรักษาอย่างที่ดีที่สุดเพื่อน้าต๋อย”
สุดท้ายแล้ว การ์ตูนก็แค่จำเลยทางสังคม
#5 พี่น้ำหวาน
พี่น้ำหวาน นักพัฒนาชุมชน? ที่เดินทางไปทั่วเพื่อพัฒนาหมู่บ้านตามชนบท พี่บอกว่า “เธอโชคดีที่เธอได้ใช้ชีวิตทั้ง 2 โลก คือ โลกเหลี่ยมๆของคนในเมือง และโลกกลมๆของชาวบ้านชนบท”
พี่น้ำหวานเล่าว่า ในทั้ง 2 โลกต่างมีข้อดีของมัน โลกเหลี่ยมๆ มันเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก กดปุ๊บติดปั๊บ เทคโนโลยีต่างๆมากมาย แต่กลับทำให้เราต้องเครียดกับเรื่องต่างๆที่มากมาย ผ่านไปมาอย่างรวดเร็วจนตามไม่ทัน แต่ในโลกกลมๆ ซึ่งเป็นโลกช้าๆที่ อยากจะกินอะไรก็ต้องปลูกเอาเอง ถึงไม่สบาย แต่ทุกคนก็ยิ้มแย้ม กินอิ่ม นอนหลับได้ ซึ่งโลกทั้งสองต่างต้องการกันและกันเพื่ออยู่รอด โลกเหลี่ยมๆต้องการผลผลิตจากโลกกลมๆ และโลกกลมๆก็ต้องการความรู้จากโลกเหลี่ยมๆเพื่อพัฒนาตัวเอง
แต่หลายครั้งที่คนในโลกเหลี่ยมๆอย่างพวกเรายื่นมือเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน แบบปิดหูปิดตา ไม่เปิดรับฟังความต้องการที่แท้จริงของเขา สุดท้ายป่าที่เราปลูกไป ชาวบ้านก็ต้องกลับไปถอดอยู่ดี เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เพราะเรามักเอาชีวิตโลกเหลี่ยมๆไปตัดสินคนในโลกกลมๆ เราต้องเปิดใจให้กว้างมากขึ้น ฟังให้มาก เพื่อให้โลกทั้ง 2 สามารถอยู่ร่วมกันได้
#6 (X)ป๋อมแป๋ม
(X)ป๋อมแป๋ม {ไม่รู้จะแทนด้วยสรรพนามอะไรดี ในเวปอื่นๆต่างเรียกว่า ‘ยาย’} พิธีกร และเจ้าของรายการ ‘เทยเที่ยวไทย’ มาพูดในหัวข้อซีเรียสๆ เกี่ยวกับการแปะป้ายตัดสินคนอื่น ซึ่งชวนให้นึกถึงนิยายเรื่อง “คำพิพากษา” ของชาติ กอบจิต เลยทีเดียว
พี่ป๋อมแป๋มถามคำถามข้อหนึ่งว่า “กะเทยต้องเป็นคนตลกและสร้างสรรค์สีสันเสมอไปหรือ? ความเข้าใจเหล่านี้ผิดมาจากไหน?” สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นจากกระบวนการที่เรียกว่า “Labelization” หรือ การแปะป้ายตัดสินคนอื่น ซึ่งการแปะป้ายในที่นี้หมายถึง การตัดสินคนอื่นตั้งแต่ก่อนที่เขากระทำ เมื่อเราแปะป้ายเขาไปแล้วว่า “แย่” ไม่ว่าสิ่งที่เขาจะทำมันดีหรือไม่? แต่สุดท้ายผลลัพย์ออกมาก็จะดูแย่อยู่ดี
พี่ป๋อมแป๋ม เล่าต่อว่า เมื่อคุณแปะป้ายตัดสินใครซักคนแล้ว คุณค่าที่เรารับรู้จะเป็นไปตามสมการ “คุณค่าที่เรารับรู้ = คุณค่าจากการกระทำ + (+/-) คุณค่าจากป้ายที่เราตัดสิน” ซึ่งหมายความว่า คุณจะไม่สามารถวัดคุณค่าอะไรบนโลกนี้ได้เลย ถ้าคุณไม่รู้ว่า ใครเป็นคนกระทำสิ่งนั้น
และ บางทีเราก็แปะป้ายตัวเองด้วยเหมือนกัน บางคนบอกว่า “เราไม่เก่ง เราไม่มีทางทำแบบนั้นได้หรอก?” ซึ่งป้ายเหล่านั้น คือการทำให้เราจมอยู่กับจุดเดิมๆ เรื่องเดิมๆ และเสียโอกาสดีๆไป สิ่งที่เราควรทำ คือ การบิดตัวเอง ให้คนอื่นได้เห็นเราในมุมมองใหม่ๆ อย่าปิดกั้นตัวเองด้วยป้ายที่เราติดไว้ด้วยตัวเอง
#7 ดร.สมเกียรติ
ดร.สมเกียรติ ความจริงอาจารย์ท่านี้เป็น ผู้เชี่ยวชาญทางด้าน AI //ตาลุกวาว ท่านเริ่มต้นด้วยเรื่องเกี่ยวกับ Technology ซึ่งนับวันก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของเรา โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้าน AI แต่ทั้งนี้ เทคโนโลยีนี้ต้องการการพัฒนาใน 2 ด้าน คือ ด้านฮาร์ดแวร์ และ ซอฟแวร์
ในขณะที่หลายๆประเทศ ต่างทยอยเปิดเผยข้อมูลเพื่อพัฒนา แต่ประเทศไทยกลับเกิดนโยบายปิดกั้นข้อมูล //ตบมือรัวๆๆ
เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง Grab และ Uber ถูกแบน, เกมส์ Pokemon Go ถูกตราหน้าว่าเป็นภัยสังคม?, ข้อมูลไทยไม่ฟรี คอมพิวเตอร์เข้าถึงไม่ได้ แล้วเราจะพัฒนาต่อไปกันได้ยังไง? สิ่งที่ประเทศไทยต้องการ คือ การเตรียมรับมือกับยุคดิจิทัล แทนที่จะสร้างกฎเกณฑ์เพื่อมาจำกัดการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน แต่หากรัฐไม่สามารถทำได้ เราก็ควรที่จะเป็นผู้นำรัฐเพื่อเดินทางไปสู่สังคมดิจิตอลไปพร้อมๆกัน
#8 ป้ามล
ป้ามล เป็นอีกความพีคหนึ่ง ใน #TEDxBangkok ป้ามลเป็นผู้อำนวนการบ้านกาญจนา ซึ่งเป็นสถาณพินิจเด็กแห่งหนึ่งของไทย ซึ่งที่บ้านแห่งนี้ เป็นคุกแต่กลับไม่มีรั้ว ไม่มีการล่ามโซ่ ไม่มีการกักขังหน่วงเหนี่ยว ระหว่างที่เขียนสรุป ก็บังเอิญเจอคลิปอันนึ งฟังแล้วก็อินตาม //แนบคลิปประกอบ
ป้ามลเล่าว่า ในแต่ละปี เด็กประมาณ 1 ล้านคนเข้าสู่ระบบการศึกษา และมี ประมาณ 1 แสนคนที่โดนออกจากโรงเรียน และเกือบ 70% ของกลุ่มที่ออกจากโรงเรียนก็ทยอยเข้าเรือนจำ ซึ่งนี้ จึงกลายเป็นคำถามที่น่าตกใจว่า “ทำไมการออกจากโรงเรียน ถึงทำให้เด็กกลายเป็นอาชญากร?”
ป้ามลเล่าต่อว่า ถึงแม้ว่าเด็กๆเหล่านี้จะกระทำความผิด แต่เขายังมีอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเขาในส่วนที่ดีอยู่ในลึกๆในตัวเขา และป้ามลไม่เชื่อว่าวิถีแห่งวัฒนธรรมคุก จะสามารถทำให้เด็กๆเหล่านี้กลับตัวได้ เพราะเขาเป็นเพียงเด็กคนหนึ่งที่ก้าวผิด รอการให้อภัยเท่านั้นเอง
#9 เต๋อ นวพล
เต๋อ นวพล ผู้กำกับหนังร้อยล้าน? ความจริง /me ก็พึ่งรู้จัก เต๋อ นวพล จากหนังเรื่อง Freelance ซึ่งชอบมากมาย โหลดบิทเก็บไว้ #เดี๋ยวนะ //ไม่มีรูปที่ดีกว่านี้แล้ว เพราะไฟส่องมารัวๆ มือถือกาก สู้แสงไฟเวทีไม่ได้
พี่เต๋อ ยกตัวอย่างให้ดูรูป 1 รูปที่มีแคปชั่นต่างกัน แค่นี้เราก็มีรู้สึกต่อรูปต่างกันแล้ว พี่เต๋อยังบอกอีกว่า จริงๆแล้วภาพนิ่ง มันคือสื่อที่โคตรอ่อนแอ และบอบบาง แค่มุมต่าง แคปชั่นต่าง เฟรมต่าง โทนสีต่าง แค่เปลี่ยนแปลงนิดๆหน่อยๆ ก็สื่อได้คนละแบบแล้ว เรายังสามารถเชื่อสิ่งที่เห็นตามสื่อได้จริงๆเหรอ?
ทุกสิ่งที่เราเห็นล้วนผ่านการตัดต่อมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะหนัง หรือ ละครโทรทัศน์ แต่มันรวมไปถึง หนังสือ เรื่องเล่าจากปากคนอื่น บลาๆ ทุกอย่างมักมีความจริงกว่าแฝงอยู่เสมอๆ #ภาพหนังเรื่องอุโมงผาเมืองลอยมาไกลๆ
แต่เราสามารถเลือกที่จะเชื่อได้ เราต้องเสพสื่อต่างๆให้ช้าลง คิดให้มากขึ้น มันไม่มีสิ่งที่จะตัดสินว่าควรเชื่อสิ่งไหนดี ดังนั้นเราต้องเสพสื่ออย่างมีสติ และ เมื่อมีความจริงที่จริงกว่า ก็ต้องยอมรับมันให้ได้
#10 อาจารย์เชน
อาจารย์เชน ท่านกล่าวว่า จริงๆแล้วท่านเป็นนักซ่อมคนหนึ่งเหมือนกัน ท่านคือนักซ่อมมนุษย์ ท่านเล่าให้ฟังว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่านศึกษาวิจัยทางด้านคลื่นสมอง แล้วพบว่าปัจจุบัน ไม่มียากเลยที่เราจะตรวจวัดคลื่นสมอง ซึ่งใช้เพียงเครื่องมือจุกจิกเล็กๆน้อยๆ แค่ 1. ตัวรับสัญญาณ 2. คอมพิวเตอร์ และ 3. ตัวขยายสัญญาณ //มี opensource ด้วยนะ ซึ่งนั้นหมายถึง อนาคตอันสดใสของการรักษาคนอัพพาต
และทฤษฏีหนึ่งที่อาจารย์เชนตั้งขึ้นมา คือ ถ้าเราไม่สามารถสั่งการแขนขาของเราได้ เพราะสมองส่งสัญญาผ่านสันหลังไม่ได้ ทำไมเราไม่ bypass สัญญาณตรงไปที่แขนขาโดยตรงเลยหละ?
ตลอดหลายปีที่อาจารย์เชน ศึกษา แต่กลับไม่มีใครกล้าที่จะสนับสนุน หลายครั้งที่อาจารย์ผิดพลาดและท้อ แต่อาจารย์ได้ฟังคำพูดของคนพิการคนหนึ่งว่า “ถ้าไม่มีคนกล้าล้มเหลวเพื่อเขา ไม่มีคนบ้า ไม่มีคนที่กล้าเสี่ยงเพื่อเขา ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปทำไม” นั้นจึงเป็นแรงให้อาจารย์เดินต่อ ซึ่งสิ่งที่ทำให้คนทั่งฮอลล์ตกใจ คือ อาจารย์เชนเล่าต่อว่า นอกจากวันนี้จะเป็นโอกาศที่ดีที่เขาได้มาพูดเรื่องราวของเขาแล้ว วันนี้ยังเป็นวันที่ คุณโชค(คนพิการตั้งแต่ลำตัวจนถึงขา)ได้กลับมามีโอกาสปั่นจักรยานอีกครั้ง เป็นครั้งแรกตั้งแต่พิการ
column=1 %}
//ฮือฮาาา ลุกขึ้นตบมือรัวๆ
สรุป
คือ งานดีเวอร์วัง ในระดับที่เกินคาดอย่างมหาศาล ไปครั้งนี้ถือว่าคุ้มมาก ได้ฟังเรื่องที่น่าสนใจทั้งเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว เรื่องที่เราไม่เคยรู้ ซึ่งที่ยกมาเขียนเป็นแค่ครึ่งนึงของทั้งหมด นอกจากได้ฟัง speaker ดีๆแล้ว ยังได้พูดคุยกันคนเจ๋งๆในงาน
รอปีหน้า ไม่รู้ว่าจะมี #TEDxBangkok ดีๆแบบนี้อีกรึปล่าวนะ