TL;DR
[30/9/2016 - 2/10/2016] โดนขุ่นแม่ลากให้กลับบ้าน จึงมีโอกาสเข้าร่วม 2 ประเพณีสำคัญ คือ #สารทเดือนสิบ และ #ประเพณีกินเจ เลยถือโอกาสบันทึกความทรงจำนี้ไว้ :))
ช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา (30/9/2016 - 2/10/2016) /me โดนขุ่นแม่ลากให้กลับบ้าน โดนการขู่จะไปฟ้องขุ่นย่า ถ้าไม่ยอมกลับบ้านคงจะโดนงอนแน่ๆ เลยต้องจำใจยอมโดยละม่อม เหตุผลที่โดยลากกลับบ้านมาครั้งนี้ แม่บอกว่า “อยากให้มางานบุญสารทเดือนสิบ งานบุญใหญ่ประจำปี” ซึ่งงานนี้ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีที่สำคัญเทียบได้กับงานตรุษจีนของชาวจีนเลยทีเดียว
แถมช่วงเดียวกันนี้ (1-9 ตค. 59) ยังถือเป็นช่วงเทศกาลถือศีลกินเจพอดีเลย ซึ่งเป็นเทศกาลดั้งเดิมที่มีจุดกำเนิดมาจากจังหวัดภูเก็ต ดังนั้นจึงมีการจัดงานกันอย่างคึกครื้น กินเจกันทั่วทั้งจังหวัด แทบจะหาหมูกินไม่ได้กันเลยทีเดียว
การกลับบ้านครั้งนี้ เลยได้โอกาศเก็บภาพบรรยากาศ Big events ทั้ง 2 ประเพณีมาเล่าให้ฟังกัน พร้อมแล้วก็มาเริ่มการเดินทางกันเลย
ออกเดินทางสู่ดอนเมือง
อย่างที่บอกไปละนะว่า กลับบ้านรอบนี้ เป็นอะไรที่ฉุกละหุก หลังจากโดนขู่เลยต้องจองเลยตอนนั้น โชคดีที่มีโปรโมชั่นของ AirAsia อยู่ แต่ดังเป็นรอบทุ่มนึง ตอนแรกก็ไม่คิดมาก แต่ถึงช่วงเวลาที่ต้องเดินทางจริงๆ เงิบมาก เพราะว่า อยู่ๆก็มีฝนตกหนัก แค่นั้นไม่พอ กทม.น้ำท่วมเลยฮ๊าฟฟฟ #ไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆซักคำให้ลึกซึ้ง
เดินทางอยู่ 3 ชม. ถึงสนามบิน แถมยังเป็นคนสุดท้ายที่ขึ้นเครื่อง ยังดีที่เขายังให้ขึ้นเครื่อง ต้องขอขอบคุณพี่ๆที่ออฟฟิศที่แนะนำให้เช็คอินออนไลน์ ไม่งั้นคงบายส์ ไม่ได้กลับบ้าน
แต่ในความโชคร้ายยังมีโชคดี เพราะว่าขึ้นเครื่องบินรอบนี้ นึกยังไงก็ไม่รู้ จองข้าวเหนียวมะม่วงมากินตอนขึ้นเครื่องบินด้วยนะฮ๊าฟฟฟ
ส่วนเรื่องรสชาติ… เราจะไม่พูด จบไป กลับบ้าน นอน ZzZzz
วันที่ 1 ประเพณีสารทเดือนสิบ
มาเริ่มกันที่ Big event แรกกันก่อนนั้นก็คือ วันสารทเดือนสิบ จัดขึ้นในวันแรม 13-15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกๆปี เป็นงานบุญที่เริ่มต้นขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ แต่ต่อมามีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นสำหรับชาวนครศรีฯ งานนี้จึงเป็นงานที่ค่อนข้างสำคัญ ญาติทุกๆคนจากต่างจังหวัดจะมารวมตัวกันที่บ้านเกิดเพื่ออุทิศส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งเชื่อกันว่าได้รับการปล่อยตัวมาจากนรก ในช่วงวันนี้ในรูปแบบของเปรตมาขอส่วนบุญ ซึ่งความเชื่อนี้ได้แผ่ขยายไปยังคนไทยพุทธแถบภาคใต้ จึงทำให้เป็นงานบุญสำคัญทั่วทั้งภาคใต้
วันนี้(1 ตค. 59) จึงเริ่มต้นด้วยการโดนปลุกด้วยเสียงทะเลาะตั้งแต่ตอนเช้า พักหลังๆ /me พบว่าทั้งขุ่นแม่และขุ่นย่าชอบทะเลาะกันบ่อยซะเหลือเกิน แต่สุดท้ายก็ยังคงพากันตะลอนๆไปที่นู้นที่นี้อยู่ดี //แอบงงแฮะ เรื่องที่ทะเลาะกันคราวนี้ คือเรื่องจะแกงอะไรไปทำบุญอีก ซึ่งมวยฝั่งน้ำเงินบอกว่า “จะแกงน้ำยาอย่างเดียวพอ” ส่วนมวยฝ่ายแดงก็บอกว่า “จะแกงไตปลาด้วย” เถียงกันอยู่นาน สุดท้ายเลยลงเอยที่ /me ได้กินแกงทั้ง 2 กับขนมจีน(5 kg.) เย้
นอกจากขนมจีนแล้ว ก็ยังมีแกงอื่นๆอีกนะ ไม่ว่าจะเป็นแกงเห็ดแครง ต้มส้มผักและขนมต่างๆ ซึ่งขนมในงานสารทนี้ ถือเป็นจุดเด่นของประเพณีนี้อย่างหนึ่ง เพราะว่า ในงานสารทนี้เราจะได้กินขนมอร่อยๆมากมาย(แต่ละอย่างอ้วนมาก น้ำมัน+กะทิ+น้ำตาล นัวกันไปมา) แต่ละพื้นที่ก็จะมีขนมแตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่จะมีขนมข้าวพอง และ ขนมลา ให้เห็นในทุกๆที่ เพราะถือเป็นขนมประจำวันสารทเลยทีเดียว
สำหรับชาวภูเก็ต นอกจากขนมข้าวพอง และ ขนมลา แล้ว มักจะมีขนมประจำเทศกาลวันสารทอีก 3 ชนิด คือ ขนมเทียน, ขนมต้ม และขนมท่อนไต้
//แต่ปีนี้ ที่บ้าน ไม่ได้ทำขนมเองนะ ซื้อเอา 555
หลักจากเตรียมของครบถ้วนแล้ว ก็ออกเดินทาง ซึ่งเป้าหมายของวันนี้ คือ วัดในยาง ซึ่งถือเป็นวัดเก่าแก่วัดนึงของจังหวัดภูเก็ต ในวันนี้ของทุกๆปี จะมีการจัดงานใหญ่ และชาวบ้านแถบนั้นจะเดินทางมารวมตัวกันที่วัดอย่างครึกครื้น
งานวันสารท ถือเป็นงานที่ทำให้เครือญาติกลับมาพบปะสังสรรค์ และ ทำความรู้จักวงศาคณาญาติเพิ่มขึ้น ซึ่งขุ่นย่าก็เลยถือโอกาศทักทายคนนู้นที คนนี้ที เฮฮากันไป #ยังกะเซเลปเลยแกร ความเก่งของคนแก่หลายคน คือ การนับญาติหนิแหละ ดูเหมือนว่าทุกคนในงานจะสามารถนับญาติกันได้หมดเลยทีเดียว OMG ความจริงก็น่าเสียดายที่สังคมก็พัฒนาไปเรื่อยๆ ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติแบบนี้ก็ค่อยๆห่างหายกันไป #บางทีฉันอาจจะเป็นญาติลุงตู่ก็ได้นะ
นอกจากพบปะญาติพี่น้องแล้ว พิธีกรรมที่สำคัญอีกอันที่ขาดไม่ได้ คือ “ตั้งเปรต” ซึ่งหมายถึง การแบ่งอาหารคาวหวานที่บรรพบุรุษชอบ ไปวางรวมกันไว้บน “หลาเปรต” ซึ่งเป็นบริเวณที่วัดเตรียมไว้เพื่อวางอาหาร บางที่ก็อาจจะเป็นโคนต้นไม้ใหญ่ หรือกำแพงวัดก็ได้ หลังจากนั้น ก็จะรอพระสงฆ์ทำพิธีกรรมและเริ่มฉันเพล ชาวบ้านก็จะออกมาตักบาตรข้าวสวย แล้วเริ่ม “ชิงเปรต” กัน
ซึ่งการชิงเปรต นี้ถือเป็นกิจกรรมที่สร้างสีสันต์ได้มากที่สุดในงานเลยทีเดียว เป็นการเปิดโอกาศให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กจะวิ่งกันเข้าไปแย่งขนมกัน ซึ่งเชื่อกันว่ามันเป็นของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้ไปกินก็จะได้กุศลแรง
บางวัดจะมีการตั้งเสาน้ำมัน เมื่อถึงเวลาชิงเปรต ก็จะให้เด็กๆแย่งกันปีนไปให้ถึงหลาเปรตซึ่งอยู่บนยอดเสา ถือเป็นความสนุกสนานอย่างหนึ่ง #มองยอดไม้ลิบๆแล้วยอมแพ้อย่างรวดเร็ว
//แต่ที่ภูเก็ตไม่มีเสาน้ำมันนะเออ
สำหรับประเพณีในจังหวัดภูเก็ต จะมีกิจกรรมที่แตกต่างจากที่อื่นเพิ่มขึ้นมา คือ การให้ทานกับชาวมอแกน หรือ ชาวไทยใหม่ ซึ่งเราจะเรียกพวกเขาว่า “พี่น้อง” //เขาก็เป็นคนไทยทัดเทียบกับเรานั้นแหละ แตกต่างแค่ความเชื่อ ความเป็นอยู่ และภาษา แต่ก็เริ่มโดยสังคมเมืองค่อยๆกลืนไปทีละนิดๆ
ซึ่งการมาขอทานของพี่น้อง ก็เป็นประเพณีของเขาเหมือนกัน ตามความเชื่อของชาวมอแกน แล้ววันนี้คือ จะมีการเปิดโลกวิญญาณของบรรพบุรุษลงมายังโลกมนุษย์เพื่อมารับสิ่งของและผลบุญที่ลูกหลานทำให้ แต่สมัยก่อนชาวเลมีฐานะยากจนมาก จึงต้องไปขอทานจากชาวบ้านเพื่อมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม และปฏิบัติกันอย่างนั้นมาตลอดทุกครอบครัว ถ้าไม่ทำจะโดนผีบรรพบุรุษลงโทษ
หลังจากทำบุญใหญ่กันแล้ว เหมือนเป็นธรรมเนียมของ /me และญาติๆที่จะต้องไปปาร์ตี้ข้าวเที่ยงร่วมกัน ที่หาดในยาง #อิจฉาละซิ อยู่ใกล้ทะเลก็งี้แหละนะ อิอิ
ทะเลในยาง สวยยังไงก็ยังเหมือนเดิม บรรกาศดีมากมาย มีลมทะเลพัดมา แดดอุ่นๆ และเงาต้นสนสลัวๆ ชิวไปหนายยย อยากจะอยู่แบบนี้ยาวๆ เสียดายช่วงที่ไปดันเป็นช่วงน้ำขึ้นพอดี เลยไม่ได้เดินชายหาด
แถมให้อีกรูป แต่เป็นภาพพระอาทิตย์ตกของท่านอื่น สวยมากๆเลยฮะ
จากนั้นก็เดินทางต่อไป หาญาติๆที่ ไม้ขาว และ บ้านดอน จังหวัดพังงา
ถึงไม่ได้เจอกันมานาน แต่เขาก็ใจดีเหมือนเดิม นี้คงเป็น เหตุผลที่ใครก็จะพูดว่า “เลือดข้นกว่าน้ำ” อย่างน้อยครั้งหนึ่งเรามาจากจุดเดียวกัน ถึงต่างคนต่างแยกย้ายกันออกไป แต่ความเป็นเราก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม บ้านเกิดคือสถาณที่ที่พูดได้เต็มปาก ว่า “สวยงามที่สุด” ถึงจะไม่ได้สวยงามเพราะบรรยากาศ แต่ก็สวยงามเพราะความทรงจำที่เราอยู่ตรงนั้นมานาน ไปตรงไหนก็มีกิจกรรมแพลงๆที่เราทำไว้ เห็นแล้วก็ยิ้มได้ทุกที :))
หลังจากพ่อๆแม่ๆ คุยกันอย่างออกรสอยู่นาน ในที่สุดก็กลับบ้าน จบการเดินทางวันนี้ด้วย การเป็นช่างไฟฟ้าเปลี่ยนหลอกไฟทั้งบ้าน ทนอยู่กันแบบมืดจนจะกลายเป็นแบทแมนอยู่แล้วมั้งเนี๊ยะ
วันที่ 2 ประเพณีกินเจ
เป้าหมายของวันที่ 2 นี้ คือ ไปไหว้พระที่ศาลเจ้าจุ๊ยตุ๋ย ศาลเจ้าใหญ่อันดับต้นๆของภูเก็ต ในแต่ละปีจะมีผู้คนมาแวะหลายหมื่นคน แทบจะเหยียบกันตาย โดยเฉพาะในวันที่มีประกอบพิธีกรรมต่างๆ
ความจริง สำหรับใครที่สนใจเที่ยวภูเก็ตในช่วงกินเจ ต้องไม่พลาดไปเดินผ่านลูกประทัด ดูขบวนแห่พระ ซึ่งจะมีแห่ในตอนเช้าตามเส้นทางต่างๆทั่วเมือง แต่ละศาลเจ้าจะผลักเปลี่ยนกันแห่งไป ซึ่งจะได้ยินเสียงประทัดตลอดขบวน พร้อมกับภาพคนเข้าทรงที่เอามีดเสียบส่วนต่างๆของร่างกาย ให้ชวนทรมาณใจ #ไปหาดูกันเอาเอง แต่ในส่วนของ /me นั้น ไม่ไปเดินดูแล้ว ปวดหัวเสียประทัด 555 จุดเริ่มต้นในวันนี้ จึงกลายเป็นการไหว้พระ และ หาอาหารเจตอนเที่ยงแทน
ประเพณีกินเจ หรือ ที่คนภูเก็ตเรียกอีกชื่อว่า “เจี๊ยะช่าย” ซึ่งเริ่มต้นขึ้นจากคณะละครงิ้วที่เข้ามาลงหลักปักฐานที่ภูเก็ต ในสมัยนั้นบังเอิญคณะงิ้วเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยกันมาก จึงตกลงกันประกอบพิธีกินเจขึ้นในวันขึ้น 1-9 ค่ำเดือน 9 ของทุกปี จนต่อมาก็มีผู้คนเลื่อมใสมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีการส่งตัวแทนไปนำควันธูปและสืบต่อประเพณีดั้งเดิมจากมณฑลกังไส ประเทศจีน กันเลยทีเดียว ดังนั้นจึงถือได้ว่า ประเพณีกินเจในไทยนี้มีรากฐานมาจากจีน แต่มีจุดกำเนิดที่จังหวัดภูเก็ต คนภูเก็ตจึงถือว่าเทศกาลนี้เป็นเทศกาลสำคัญมากๆเทศกาลหนึ่ง ไม่น้อยไปกว่าวันสงการณ์
แต่ แต่ แต่ กลับกลายเป็นว่าวันนี้ซวยสุดๆ เพราะฝนตกหนัก ทั้งเปียก เฉอะแฉะไปหมด ไม่สามารถถ่ายบรรยากาศถนนคนเดินหน้าศาลเจ้าได้ แถมคนก็บางตามากๆ เพราะว่าหลบฝนกัน ตามปกติแถบนี้จะคึกคักมาก เพราะมีร้านอาหารเจมากมายให้เลือกกิน ซึ่ง /me เลือกร้านๆหนึ่ง ซึ่งเป็นร้าน “ร่วมใจอาหารเจ “ ซึ่งเป็นร้านข้าวแกงเจ ที่มีตั้งแต่ผัดผักไปจนถึงข้าวหมูแดง #ใครบอกว่าอาหารเจไม่อร่อยต้องมาลองกินที่นี้
ซึ่ง highlight ของร้านนี้ก็คือ ปลาเค็มเจ ที่หาที่อื่นไม่ได้ อร่อยมากมาย /me ซื้อตุนไว้เยอะมาก สำหรับกินตลอดสัปดาห์
นอกจากนี้ สำหรับใครที่ไปศาลเจ้าจุ๊ยตุ๋ย ยังมีอีกหลายเมนูที่ต้องไปลอง เช่น หมี่ฮกเกี๊ยนสูตรเจ (แต่ /me ไม่มีรูป เอารูปสูตรไม่เจไปก่อนละกัน)
และ ขนมเปี๊ยะเจร้อนๆ //รูปของ @cawahanaii ยังไม่ได้ขออนุญาตเบยย
เอาเป็นว่าแถวนั้นมีของกินมากมายให้ลอง เปิดใจแล้วลองซะ อร่อยแทบไม่ต่างจากอาหารไม่เจเลยทีเดียว
แต่เป้าหมายของการมาจุ๊ยตุ๋ยครั้งนี้ไม่ได้มากินนะเฟ้ย หลังจากลุยฝน และบรรดาอาหารมากมายมาตลอดทาง สุดท้ายก็มาถึงศาลเจ้า ซึ่งที่นอกจากศาลเจ้าจุ๊ยตุ๋ยแล้วยังมีศาลเจ้าเล็กๆซึ่งอยู่ติดกัน ชื่อว่า ศาลเจ้าปุดจ้อ ซึ่งเป็นที่ที่มีประวัติกับ /me ในสมัยเด็กๆ แม่เล่าว่า เมื่อก่อนเป็นคนอ่อนแอมาก ป่วยบ่อยจนสุดท้ายเลยต้องมาขอชื่อใหม่จากศาลเจ้าปุดจ้อ ให้ช่วยคุ้มครอง และได้ชื่อ “เต็กหุ้ย” มาใช้จนถึงปัจจุบัน
ซึ่งภายในศาลเจ้า จะมีผู้คนมากมายเป็นอาสาสมัครช่วยทำนู้นทำนี้ แบบว่า ถ้างงว่าต้องทำอะไรบ้าง ก็เข้าไปถามได้เลย
ความจริงแล้วประเพณีกินเจนี้ ในแต่ละวันจะมีพิธีกรรมต่างๆให้ผู้ที่ศรัทธาเข้าไปร่วมพิธี ใครมาเที่ยว /me ขอบอกเวลาว่าต้องจัดเวลาไปดู ไม่ว่าจะเป็น
พิธีกรรมสะเดาะเคราะห์
พิธีกรรมลุยไฟ
พิธีกรรมส่งพระ
// พิธีส่งพระนี้ถือเป็นพิธีที่ /me ชอบที่สุดแล้ว จะมีขบวนแห่งเกี้ยวพระ จากศาลเจ้าต่างๆ มารวมกันที่สะพานหิน ตลอดทางจะมีการจุดประทัดกันอย่างสนั่นหวั่นไหว เรียกได้ว่า พื้นถนนกลายเป็นสีแดงเพราะเศษประทัด และควันหนาจนมองไม่เห็นฝั่งตรงข้าม
แต่น่าเสียดายที่ปีนี้ /me ไม่ได้เข้าร่วมซักพิธี หลังจากไหว้พระแล้วบ่ายๆ ก็ต้องกลับบ้าน เตรียมกระเป๋า ขึ้นเครื่องกลับ กทม.
สวัสดีเช้าวันจันทร์
ปล1. สนามบินเสร็จแล้วนะเอออ อุโมงค์ต่างๆที่ขุดๆกันก็เสร็จแล้ว ฮูเร่ๆๆ ดีจัง
ปล2. รูปทั้งหมดนี้ ไม่ใช้รูปที่ถ่ายเองนะฮะ เพราะว่า ลืมถ่ายรูป ไม่คิดว่าจะกลับมาเขียนบทความ + หาภาพสวยๆไม่ได้ เอาเป็นว่า จะทยอยอัพ credit ที่ขาดไปอีกทีนะครับ กราบขออภัย